วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การทำยุทธหัตถีหรือการชนช้าง


 ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า "การต่อสู้กันด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นวิธีการรบอย่างกษัตริย์ในสมัยโบราณ เช่น พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา การชนช้างก็ว่า"
            บนหลังช้างจะมีคนนั่งอยู่สามคน ตัวแม่ทัพจะถือง้าวอยู่ที่คอช้าง คนที่นั่งกลางอยู่บนกูบจะถือหางนกยูงซ้ายขวาโบกเป็นสัญญาณ และคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ (ทราบว่าจะสับเปลี่ยนที่นั่งกันตอนกระทำการรบเท่านั้น) ที่ท้ายช้างจะมีควาญนั่งประจำที่ ตามเท้าช้างทั้งสี่มีพลประจำเรียกว่า จตุรงคบาท คนทั้งหมดจะถืออาวุธ เช่น ปืนปลายขอ หอกซัด ของ้าว ขอเกราะเขน แพน ถ้าเป็นช้างยุทธหัตถีจะมีหอกผูกผ้าสีแดงสองเล่ม ปืนใหญ่หันปากออกข้างขวาหนึ่งกระบอก ข้างซ้ายหนึ่งกระบอก มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะ   โพกผ้า ช้างที่เข้ากระบวนทัพจะสวมเกราะใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม โดยทั้งที่สี่เท้าสวมหน้าราห์ มีปลอกเหล็กสวมงาทั้งคู่ และมีเกราะโว่พันงวงช้าง สำหรับพังหอค่าย โดยไม่เจ็บปวด
การกระทำยุทธหัตถีในประวัติศาสตร์ไทยที่เลืองลือ ปรากฏทั้งหมด 4 ครั้ง คือ
1. การชนช้างระหว่างพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พ่อขุนรามคำแหงชนะ
2. การชนช้างที่สะพานป่าถ่าน ระหว่างเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยา เพื่อชิงราชสมบัติ ปรากฏว่าสิ้นพระชนม์ทั้งคู่
3. ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระสุริโยทัยกับพระเจ้าแปร ในปี พ.ศ. 2091 ที่ทุ่งมะขามหย่อง อยุธยา สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ขาดคอช้าง
4. ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชามังสามเกียด ในปี พ.ศ. 2135 ที่หนองสาหร่าย สุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ชัยชนะ
            พงศาวดารฉบับขุนหลวงหาวัด บรรยายว่า
            "ส่วนพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาก็เข้าชนช้างชิงชัย แล้วสู้รับฟันแทงกันด้วยพระแสงของ้าวตามกระบวนเพลงขอ ก็รำรอรับกันประจันสู้กันไปตามเพลงส่วนช้างพระนเรศวรนั้นเล็ก ก็ถอยพลางทางสู้ชน ครั้นถอยไปอุปราชาจึงฟันพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว พระนเรศวรจึงหลบ ก็ถูกพระมาลาบี้ไปประมาณได้สี่นิ้ว ครั้งช้างพระนเรศร์ถอยไปจึงได้ที ประจันหนึ่งเรียกว่าหนองขายันและพุทรากระแทก ก็ยังมีที่ที่อันนั้นจนทุกวันนี้ ช้างพระนเรศวรนั้นยันต้นพุทรานั้นเข้าได้แล้ว จึงชนกระแทกขึ้นไป ก็ค้ำคางช้างพระมหาอุปราชาเข้า ฝ่ายช้างอุปราชาเบือนหน้าไป พระนเรศวรได้ทีก็ฟันด้วยพระแสงของ้าว ชื่อเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ก็ถูกอุปราชาพระเศียรก็ขาดออกไปกับที่บนคอช้าง"
           ยุทธหัตถี หรือ การชนช้าง (Elephant Duel) คือการทำสงครามบนหลังช้างตามประเพณีโบราณของกษัตริย์ในภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นการทำสงครามซึ่งถือว่ามีเกียรติยศ เพราะช้างถือเป็นสัตว์ใหญ่ และเป็นการปะทะกันซึ่ง ๆ หน้า ผู้แพ้จะถึงแก่ชีวิตได้
           ประวัติและลักษณะจำเพาะ
           การกระทำยุทธหัตถีเป็นประเพณีสงครามที่รับมาจากอินเดีย โดยช้างที่ใช้ เรียกว่า "ช้างศึก" โดยมากจะนิยมเลือกใช้ช้างพลายที่กำลังตกมัน ดุร้าย ก่อนออกทำสงครามจะกรอกเหล้าเพื่อให้ช้างเมา เกิดความฮึกเหิมเต็มที่ โดยจะแต่งช้างให้พร้อมในการรบ เช่น ใส่เกราะที่งวงหรืองาเพื่อรื้อทำลายค่ายคูของฝ่ายตรงข้าม เรียกว่า "ช้างกระทืบโรง" หรือล่ามโซ่หรือหนามแหลมที่เท้าทั้งสี่ ใช้ผ้าสีแดงผืนใหญ่ปิดตาช้างให้เห็นแต่เฉพาะด้านหน้าเพื่อไม่ให้ช้างตกใจและเสียสมาธิ เรียกว่า "ผ้าหน้าราหู"
          ตำแหน่งของผู้ที่นั่งบนหลังช้างจะมีด้วยกัน 3 คน คือ ตำแหน่งบนคอช้าง จะเป็นผู้ทำการต่อสู้ โดยอาวุธที่ใช้สู้ส่วนมากจะเป็นง้าว ตำแหน่งกลางช้าง จะเป็นตำแหน่งที่จะให้สัญญาณและส่งอาวุธที่อยู่บนสับคับให้แก่คอช้าง โดยอาวุธได้แก่ ง้าว, หอก, โตมร, หอกซัด และเครื่องป้องกันต่าง ๆ เช่น โล่ห์ เป็นต้น และตำแหน่งควาญช้างซึ่งจะเป็นผู้บังคับช้างจะนั่งอยู่หลังสุด และหากเป็นช้างทรงของพระมหากษัตริย์ จะมีทหารฝีมือดี 4 คนประจำตำแหน่งเท้าช้างทั้ง 4 ข้างด้วย เรียกว่า "จาตุรงคบาท" ซึ่งไม่ว่าช้างทรงจะไปทางไหน จาตุรงคบาทต้องตามไปคุ้มกันด้วย หากตามไม่ทันจะมีโทษถึงชีวิต
          โดยมากแล้ว ผลแพ้ - ชนะของการทำยุทธหัตถีจะขึ้นอยู่กับขนาดของช้าง ช้างที่ตัวใหญ่กว่าจะสามารถข่มขวัญช้างที่ตัวเล็กกว่า เมื่อช้างที่ตัวเล็กกว่าหนีหรือหันท้ายให้ หรือช้างตัวใดที่สามารถงัดช้างอีกตัวให้ลอยขึ้นได้ จะเปิดจุดอ่อนให้โจมตีได้ตรง ๆ การฟันด้วยของ้าวเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ถึงชีวิตได้ โดยร่างอาจขาดหรือเกือบขาดเป็นสองท่อนได้ เรียกว่า "ขาดสะพายแล่ง"

ที่มา:http://www.banprak-nfe.com/webboard/index.php?topic=449.0

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites