วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อารยธรรมเมโสโปเตเมีย

อารยธรรมเมโสโปเตเมีย

ซูเมอร์ ประมาณ 3200-2800 ปีก่อนคริสตกาล พวกสุเมเรียนตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ซูเมอร์ (Sumer) ทางใต้ของเมโสโปเตเมีย (ดินแดนระหว่างแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส) ปัจจุบันเมโสโปเตเมีย-ซูเมอร์อยู่ในประเทศอิรัก
พวกสุเมเรียน มาจากไหนไม่มีหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานกันว่ามาจากทางตะวันออก อาจเป็นพวกเดียวกับกลุ่มชนที่สร้างอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ พวกสุเมเรียนมาสร้างเมืองไว้หลายเมือง ใจกลางเมืองมีวัดขนาดใหญ่สร้างด้วยอิฐไว้บนลานยกระดับสูง ผนังวัดประดับด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาหลากสี วัดใช้ประดิษฐานเทพเจ้าประจำเมือง แต่ละเมืองมีเจ้าครองนคร เจ้าครองนครมาจากพระที่มียศสูงที่สุด เรามักเรียกกันว่า พระ-กษัตริย์ วัดถือเป็นศูนย์กลางทางศาสนา ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ มีการคิดตัวอักษรขึ้นมาใช้ในงานบริการของวัด แรกเริ่มเป็นอักษรภาพก่อน   แล้วจึงพัฒนาเป็นตัวอักษรคิวนิฟอร์ม
งานศิลปะ มีการใช้ตราลูกกลิ้ง สำหรับประทับตราลงบนภาชนะเก็บอาหารของวัด ภาชนะนี้มีร่างคล้ายแจกัน คือ คอแคบมีหูสองข้าง บนตราประทับเป็นเทพเจ้า งานศิลปะอื่นๆ   เป็นปั้นขนาดเล็กทำจาก ดินเหนียว หิน และโลหะ
ศาสนา แรกเริ่มมีเทพเจ้า 3 องค์ คือ เอนลิล, อาน และเอนกิ ต่อมามีอูตู (เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์) อินานนา (เทพธิดาแห่งการสืบพันธุ์) และนานนา (เทพเจ้าแห่งดวงจันทร์) คนสุเมเรียนใช้ระบบนับเวลาในวันหนึ่งว่ามี 24 ชั่วโมง 1 ชั่วโมง มี 60 นาที 1 นาทีมี 60 วินาที และวงกลมมี 360 องศา
2800-2500 ปีก่อนคริสตศักราช สมัยราชวงศ์โบราณ พวกเซมิติค (จากคาบสมุทรซีนาย) อพยพมาอยู่ เมสิลิม เดอ กิซ เป็นกษัตริย์ผู้มีอำนาจสูงสุดองค์แรก เมืองนิปปูร์เป็นศูนย์กลางทางศาสนา มีการสร้างกำแพงเมืองที่อุรุคในสมัยพระเจ้าจิลกาเมซ การสร้างวัดแบบโบราณพัฒนามาเป็นแบบซิกกูราท (เป็นชั้นๆ ลดหลั่นไปและเชื่อมโยงติดต่อกับโบสถ์ที่อยู่บนยอดด้วยบันได)  
ตั้งแต่ 2500 ปีก่อนคริสตศักราช เป็นต้นมา เริ่มราชวงศ์แรกของเมืองเออร์ ผู้ก่อตั้ง คือ เมซานนี-ปาดดา เราเริ่มรู้จักเมืองเออร์ตั้งแต่มีการค้นพบหลุมศพของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์จำนวน 16 หลุม เมื่อค.ศ. 1922 ในหลุมศพมีการฝังเครื่องใช้สอยส่วนพระองค์ และข้าทาสบริวารที่สละชีพเพื่อไปรับใช้เจ้านายในโลกหน้าคล้ายกับจะทำตามอย่างเรื่องของอินานนา ซึ่งเป็นนักบวชสตรีกับเทพเจ้า ดูมูซิ ที่แสดงเป็นตัวแทนของกษัตริย์มาแต่งงานด้วยกัน และจบชีวิตด้วยวิธีนี้
ประมาณ 2500-2360 ปีก่อนคริสตศักราช เริ่มราชวงศ์แรกของเมืองลากาซผู้ก่อตั้งชื่อพระเจ้าเออร์-นานเซ โอรสของพระองค์ ชื่อ เอียนนาตุม โปรดให้จารึกแผ่นหินเป็นที่ระลึกในการที่พระองค์ชนะสงครามต่อเมืองอุมมา หินนี้เรียก Stele des Vautours ค้นพบที่เมืองเทลโล ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟเวรอ ประเทศฝรั่งเศส กษัตริย์องค์ต่อมาชื่อ เอนเตเมนา ปราบพวกพระที่สนับสนุนลูกาลันดา กษัตริย์องค์ที่ 4 ของราชวงศ์ให้ขึ้นครองบัลลังก์ แต่กบฎคือ อูรูกาจินา ขึ้นครองราชย์และจัดระบบสังคมใหม่ สุดท้ายพวกพระที่ไม่พอใจกษัตริย์ร่วมกันสนับสนุนลูกาซากกิสิแห่งเมืองอุมมา ให้มาครองเมืองลากาซ เออร์ อุรุก กิซ นิปปูร์ และขยายอาณาเขตออกไปจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พระองค์เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของซูเมอร์ก่อนที่จะพ่ายแพ้แก่จักรวรรดิอัคคัด
อัคคัด (อยู่เหนือซูเมอร์) 2350-2300 ปีก่อนคริสตศักราช พระเจ้าซาร์กอนแห่งอัคคัด เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้รับชัยชนะเหนือดินแดนเมโสโปเตเมีย ซีเรีย เอเซียไมเนอร์ทั้งหมด และอีลาม (ที่อิหร่าน) ความสามารถของพระองค์อยู่ที่การใช้เทคนิคใหม่ในการทำสงครามด้วยการใช้หอก ศร และธนู (เป็นเทคนิคของคนในดินแดนสเตป คือ เขตดินปนทรายและเป็นทุ่งหญ้าในยูเรเซีย) แทนที่จะใช้อาวุธหนักๆ ของสุเมเรียน มีการสร้างนครรัฐขยายใหญ่เป็นศูนย์กลาง การบันทึกทางราชการใช้ภาษาอัคคาเดียน ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่อากาเด ฐานะของกษัตริย์เปรียบเหมือนกษัตริย์ปนพระเจ้า มีเทพเจ้าที่เคารพบูชา คือ อิชการ์ และซามาซ คือ เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ หรือพระสุริยะ เมื่อพระเจ้าซาร์กอนสวรรคต เกิดการจราจล นาราม-สิน ผู้เป็นหลาน (2270-2230 ปีกอ่นค.ศ.) ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงปฏิบ้านเมือง ทำสงครามกับพวกที่อยู่ในคาบสมุทรอาราเบียทางตอนใต้ กับพวกที่อยู่แถวภูเขาซาโกรส
2150-2050 ปีก่อนคริสตศักราช มีผู้รุกรานมาจากทางอิหร่าน แต่กษัตริย์เมืองอุรุคขับไล่ไป และทำการปฏิอาณาจักรสุเมเรียนขึ้นมาใหม่
2050-1950 ปีก่อนคริสตศักราช ราชวงศ์ที่สองของเมืองเออร์ มีกษัตริย์อยู่ 4 พระองค์ คือ เออร์-นามมู, ซูลจิ, ซู-ซิน, อิบบิ-ซิน ราชวงศ์นี้ซ่อมแซมและปรับปรุงอาณาจักรซูเมอร์และอากาเด พร้อมทั้งวัดทั่วราชอาณาจักร พระเจ้าซูลจิเข้าพิธีแต่งงานกับเทพธิดาอินานนาทำให้พระองค์กลายเป็นเทพเจ้า มีการสร้างหลุมศพสำหรับพระองค์และเชื้อพระราชวงศ์ที่เมืองเออร์ ภายใต้รัชกาลของพระเจ้าซู-ซิน มีพวกเซมิทตะวันตกเข้ามารุกราน และทำให้ต้องสร้างกำแพงเมืองขึ้นที่แถวแม่น้ำยูเฟรติสตอนกลาง ราชวงศ์ที่สองของเมืองเออร์ทำสัมพันธไมตรีทางการค้ากับประเทศอินเดีย อาณาจักรเออร์สลายไปเพราะพ่ายแพ้สงครามกับพวกอีลามและกับกษัตริย์เมืองมารี (ในซีเรียปัจจุบัน)
งานทางวรรณคดี เป็นสมัยที่วรรณคดีสุเมเรียนรุ่งเรืองที่สุด
เศรษฐกิจ เป็นฐานอำนาจทางการเมือง สมัยนี้การค้าเจริญมากคนนิยมสร้างวัดและนครวัด 

การเมือง มีระบบข้าราชการขนาดใหญ่ ต้นราชวงศ์ที่ 3 ของเมืองเออร์ พระเจ้ากูเดีย แห่งลากาซ   ทรงสถาปนาราชอาณาจักรสุเมเรียนขึ้นมาใหม่ และใช้การบริหารแบบเดิม มีการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่อยู่ทั่วไปเพราะพลเมืองร่ำรวยจากการค้ามาก
ตั้งแต่ 2000 ปีก่อนคริสตศักราช เป็นต้นมา พวกคานานซึ่งเป็นพวกที่มีเชื้อสายเซมิทเผ่าหนึ่งเข้ามารุกราน นำเอาวัฒนธรรมแบบเซมิทเข้ามามาก มีการสร้างนครวัดที่อิสิน ลาร์ท และบาบิโลน (Bab-ili = ประตูของพระเจ้า) แต่ภาษาสุเมเรียนยังคงเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ทั่วไปเหมือนดิม
ประวัติอารยธรรมเมโสโปเตเมีย เมื่อ 2000 ปีก่อนคริสตศักราช
จักรวรรดิอัสซีเรียตอนต้น (1800-1375 ปีก่อนคริสตศักราช) 
เมื่อประมาณ 2500 ปีก่อนค.ศ. พวกอัสซีเรียอาศัยอยู่แถวแม่น้ำไทเกอร์ตอนบน ลักษณะนิสัยเป็นนักรบ เข้มแข็งอดทน ต้นเนิดมาจากชนพื้นเมืองหลายเผ่าผสมกัน (นอกจากพวกสุเมเรียน) กับพวกเซมิติค อารยธรรมของพวกเขารับมาจากทางใต้ ชื่อ จักรวรรดิอัสซีเรีย และเมืองอัสสู มาจากชื่อเทพเจ้าอัสสู (Assour = เทพเจ้าอันสูงสุด) หลังจากที่ราชวงศ์ที่ 3 ของเมืองเออร์ล่มสลาย อัสซีเรียได้รับชัยชนะตั้งเมืองอัสสูและครองบาบิโลเนียทางตอนเหนือ (ราว 1800 ปีก่อนค.ศ.) เมื่อพวกฮิตไทท์เข้ามารุกราน ขัดขวางการค้ากับทางเหนือและทางตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้ประชาชนมีรายได้น้อยลง จักรวรรดิอัสซีเรียจึงเสื่อมอำนาจ คนต่างชาติถือโอกาสเข้ามาครองเมือง คือพระเจ้านาราม-ซิน แห่งเอชนุนนา (กฎหมายของพระองค์มีชื่อมาก) แต่พระเจ้าชามชิ-อาดัดที่ 1 (1749-1717 ปีก่อนค.ศ.) นำราชบัลลังก์มาคืนได้ ราชอาณาจักรของพระองค์กว้างขยายไปยังดินแดนที่เป็นภูเขาทั้งหมด ส่วนหนึ่งของเมโสโปเตเมียและราชอาณาจักรมารี ทรงสร้างและรักษาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ พระราชโอรสของพระองค์ชื่อ อิชเม-ดากานที่ 1 พ่ายแพ้ต่อพระจ้าริม-สิน แห่งลาร์ซา และภายหลังตกเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าฮัมมูราบีแห่งบาบิโลเนีย ประวัติของจักรวรรดิอัสซีเรียก่อน 1450 ปีก่อนค.ศ.ไม่ค่อยมีผู้ศึกษามากนัก ครั้งสุดท้ายอัสซีเรียกลายเป็นรัฐหนึ่งที่ขึ้นกับอาณาจักรมิตานนี (ในอิรักปัจจุบัน) 
นครรัฐบาบิโลน
1728-1686 พระเจ้าฮัมมูราบี แห่งเมืองบาบิโลน
 ตอนพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์นั้นมีนครรัฐ 6 รัฐ กำลังทำสงครามกัน คือ ลาร์ซา เอชนุนนา บาบิโลน กาทนา จามซาด (เอเลปปัจจุบัน) และอัสสู นครรัฐลาร์ซา มารี และบาบิโลน นั้นร่วมกันทำสงครามต่อต้านนครรัฐเอชนุนนา อีลาม พวกชาวเขาและนครรัฐอัสสูมาเป็นเวลา 15 ปี เมื่อพระเจ้าฮัมมูราบีได้รับชัยชนะเหนือนครรัฐเพื่อนบ้านแล้ว จึงเกลี้ยกล่อมพระเจ้าริม-สิน แห่งลาร์ซา และซิมริลิมแห่งมารีให้เป็นพวกของพระองค์ พระเจ้าซิมริลิมพระองค์นี้เองที่เป็นผู้ก่อสร้างพระราชวังที่มีชื่อเสียงที่เมืองมารี ณ ที่นี้นักโบราณคดีขุดพบแผ่นดินเหนียวเล่าเรื่องราวต่างๆ ถึง 20,000 แผ่น ถือเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญมาก
กฎหมายฮัมมูราบี บอกให้เราทราบถึงความห่วงใยที่พระเจ้าฮัมมูราบีมีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองของพระองค์ กฎหมายนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของการกำหนดโทษผู้กระทำผิด การลงโทษสมัยนี้มีการโบยด้วยแซ่ ตัดสินประหารชีวิต (แทงด้วยของแหลม เผาไฟ ถ่วงน้ำ) ภาษาราชการในบาบิโลน คือภาษาอัคคาเดียน รับอิทธิพลทางวรรณคดีจากเมโสโปเตเมีย เทพเจ้าที่สำคัญมีมาร์ดุคแห่งบาบิโลน เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ชามาช เทพแห่งความรักอิชทาร์ กษัตริย์ที่ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าฮัมมูราบีเสียดินแดนทางใต้ และทำสงครามกับพวกคาสไซท์และฮูไรท์หลายครั้ง
1531 พระเจ้ามูร์ซิลที่ 1 ของพวกฮิตไทท์ปล้นและเผาบาบิโลน
1530-1160 สมัยคาสไซท์ ชาวอิหร่าน
1160 เมืองบาบิโลนถูกปล้นอีกครั้ง และอำนาจของพวกคาสไซท์ก็หมดลงเพราะแพ้ต่อพวกอีลาม (ที่ 13) จาก 1137 ปีก่อนค.ศ.เป็นต้นมา บาบิโลนรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งสมัยพระเจ้านาบุโคโดโนซอร์ที่ 1 (ราชวงศ์ที่ 4 ของบาบิโลน) ทรงปลดปล่อยบาบิโลน จากพวกอีลาม และทรงตั้งอาณาจักรใหม่ หลังรัชกาลของพระองค์ บาบิโลนก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอัสซีเรียอีก
พวกฮูไรท์  ดินแดนเมโสโปเตเมียตอนเหนือ ได้รับการรุกรานจากพวกฮูไรท์ที่มาจากแถวทะเลสาบแวน พวกนี้รุกรานต่อไปในอัสซีเรีย เมโสโปเตเมียทั้งหมด ตุรกี ซีเรีย เลบานอน ปาเลสไตน์ ทุกแห่งที่พวกฮูไรท์เข้าไปอยู่ จะไปในลักษณะชนชั้นเหนือกว่าผู้อื่น (Marjanni = นักรบ ; ภาษาอินเดียว่า มารจา = อัศวินหนุ่ม) เป็นเจ้าที่ดิน และที่ดินถือเป็นมรดกสืบสกุล แต่เจ้าของที่ดินมีสิทธิ์ยกให้ใครก็ได้ตามใจชอบ พวกนักรบฮูไรท์ใช้รถเทียมม้าอันเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง
ด้านศาสนา เทพเจ้าที่สำคัญ คือ เตชุม (เทพเจ้าแห่งดินฟ้าอากาศ) เซปาท (เทพธิดาแห่งดวงอาทิตย์) และคูมาร์บิ (บิดาแห่งเทพทั้งหลาย) แต่ชนอารยันชั้นสูงบูชาเทพเจ้าอินเดีย คือ พระอินทร์ มิตรา และวรุณ
ด้านศิลปะ แผ่นหินสลักภาพนูนต่ำเรียงเป็นแถว และการสร้างบ้านตามยาวแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า
จักรวรรดิอัสซีเรียตอนกลาง (1375-1047 ปีก่อนคริสตศักราช) 
1390-1364 กษัตริย์อัสซีเรีย เอริบา-อาดาด สมทบกับพวกฮิตไทท์ รุกรานอาณาจักรมิตานนี ภายหลังเกิดสงครามครั้งใหญ่เป็นโอกาสให้พวกอาร์เมเนียเข้ามาโจมตี อาณาจักรฮิตไทท์ล่มสลายลง อำนาจของอัสซีเรียเสื่อม
1112-1074 พระเจ้าเตกลาธฟาลาซาร์ที่ 1 เป็นผู้นำอำนาจอัสซีเรียกลับมาเหมือนเดิม จากนั้นทำสงครามขยายดินแดนขึ้นไปทางเหนือ ซีเรียต้องส่งส่วยให้อัสซีเรีย กษัตริย์องค์ต่อมาทำสงครามกับพวกอาร์เมเนีย
เทคนิคการทำสงคราม รถรบอยู่ตรงกลาง พลเดินเท้าและกองเสบียงสวมเกราะ ถือโล่ห์อยู่ตรงปีกซ้ายขวา มีการใช้เหล็กเมื่อประมาณ 1200 ปีก่อนค.ศ. ช่างตีเหล็กทำอาวุธของพวกฮิตไทท์เดินทางไปในกองทัพด้วย พวกฮิตไทท์เป็นเจ้าของดินแดนที่มีแร่เหล็กมาก
กฎหมายและการลงโทษ ตัดหรือเจาะหู ตัดริมฝีปากและนิ้ว ตัดอวัยวะเพศชาย ยางมะตอยราดหน้าให้เสียโฉม
ด้านเศรษฐกิจ การค้าแบ่งระหว่างวัด กษัตริย์ และขุนนาง การเกษตรกรรมรุ่งเรืองมาก มีการพัฒนาเทคนิคการไถนา
ประวัติอารยธรรมเมโสโปเตเมีย เมื่อ 1000 ปีก่อนคริสตศักราช
จักรวรรดิอัสซีเรียตอนปลาย (883-612 ปีก่อนคริสตศักราช) พระเจ้าอัสสูร์นาซิปาลที่ 2 ขึ้นครองราชบัลลังก์ (883-859 ปีกอ่นค.ศ.) พระองค์ได้ชื่อว่า เป็นกษัตริย์ที่เหี้ยมโหดที่สุดของอัสซีเรีย ทรงขยายอาณาเขตไปกว้างไกลด้วยการทำสงครามกับเพื่อนบ้าน ทรงนำวิธีการทำสงครามแบบใช้กองทัพม้า เป็นครั้งแรก ทรงมีวิธีที่เหี้ยมโหดในการทำให้คนยอมรับพระองค์ คือ การทรมานร่างกายด้วยวิธีต่างๆ หรือไม่ก็ฆ่าเสียให้หมดสิ้น เมืองหลวงย้ายจากอัสซีเรียมาที่กาลาห์(เหนือเมืองอัสสู) ซึ่งพระองค์ก็ทรงสร้างพระราชวัง และนำเชลยสงครามมาไว้ที่นี่ โอรสของพระองค์ คือ พระเจ้าซาลมานาสาร์ที่ 3 (858-824 ปีก่อนค.ศ.) ทรงสนพระทัยซีเรียและปาเลสไตน์เพราะต้องการควบคุมเส้นทางการค้าจากแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสมายังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทรงโจมตีเมืองดามัส (เมืองหลวงของซีเรียปัจจุบัน) แต่ไม่สำเร็จ ขณะนั้นที่เมืองนี้มีชาวอาร์เมเนียอยู่มาก ตอนนี้เองที่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวถึงพวกมีดส์และพวกเปอร์เซีย (835 ปีก่อนค.ศ.) ปลายสมัยของพระองค์ ซามสิ-อาดัด ผู้เป็นโอรสก่อกบฎ แต่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากบาบิโลเนียจึงทำการสำเร็จ และขึ้นเป็นกษัตริย์ซามสิ-อาดัด ที่ 5 และจากการช่วยเหลือนี้เองที่ทำให้อัสซีเรียต่อต้านพวกมีดส์ที่เข้ามารุกรานไว้ได้ ตอนนั้นพวกมีดส์ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แถวทะเลสาบอูร์เมีย (ปัจจุบันอยู่ในอิหร่านตอนเหนือใกล้ทะเลสาบวาน)
810-806 ปีก่อนค.ศ. พระเจ้าเซริรามิส (ซามมูรามาท) ครองราชย์ทรงมีชื่อเสียงทั้งในและนอกประเทศ กษัตริย์ต่อจากพระองค์ทำสงครามกับพวกบาบิโลเนีย พวกมีดส์และโดยเฉพาะกับพวกอาณาจักรอูราตู (ที่ทะเลสาบวาน ปัจจุบันอยู่ในตุรกีตะวันตก)
745-724 ปีก่อนค.ศ. พระเจ้าเตกลาธฟาลาซาร์ที่ 3 ทรงตั้งอาณาจักรอัสซีเรียอันยิ่งใหญ่ ปราบเจ้าครองนครรัฐต่างๆ และทรงทำอาณาจักรให้เข้มแข็ง ทรงได้ชัยชนะเหนือพระเจ้าซาร์ดูร์ที่ 2 แห่งอูราตู และรุกรานซีเรียตอนเหนือ ดามัส และกาซา พระองค์กลายเป็นกษัตริย์ของบาบิโลนภายใต้พระนามว่า พระเจ้าปูลู กษัตริย์ต่อจากพระองค์ คือ พระเจ้าซาลมานาสาร์ที่ 5 ทรงไม่ลงรอยกับพวกพระ จึงถูกลอบปลงพระชนม์ที่ซามารี (เหนือเยรูซาเล็ม)
     772-705 ปีก่อนค.ศ. พระเจ้าซาร์กอนที่ 2 (Sharroukin = กษัตริย์ผู้ทรงธรรม) ทรงฟื้นฟูด้านศาสนาและให้พวกพระมีอภิสิทธิ์เหมือนเดิมเช่นเดียวกับเชื้อพระวงศ์ ทรงชนะพวกนครรัฐของฮิตไทท์ ได้ครองอูราตู ทำสงครามกับพวกมีดส์ ขยายอำนาจเหนือบาบิโลน ชนะต่ออียิปต์ที่เมืองราเฟีย (เมืองริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งอยู่บนคาบสมุทรซีนาย) ทรงสร้างเมืองหลวงที่ดูร์-ซาร์รูคิน (หรือ โฆร์สาบัด เหนือเมืองกาลาห์) โอรสของพระองค์ คือ
พระเจ้าเซนนาเซริม (704-618 ปีก่อนค.ศ.) เป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจเด็ดขาด เมื่อ 701 ปีก่อนค.ศ. ทรงทำให้แคว้นยูดา (เมืองหลวง คือ เยรูซาเล็ม) เข้ามาอยู่ในอำนาจ ทรงทำลายบาบิโลน ทรงขยายเมืองนินิฟ ซึ่งเป็นเมืองแรกของนครรัฐของพระองค์ด้วยการเกณฑ์ทหารในกองทัพมาเป็นจำนวนมาก (สร้างกำแพง 2 ชั้น สูง 25 เมตร มีหอสังเกตการณ์ 15 หอ) มีการขุดคลองยาวถึง 50 กิโลเมตร เพื่อให้คนมีน้ำใช้ทั่วถึง มีสะพานส่งน้ำยาว 280 เมตร และกว้าง 22 เมตร ความที่ทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มงวด จึงมีคนลอบปลงพระชนม์ โอรสองค์สุดท้อง คือ
พระเจ้าอัสสาร์ฮาดดอน (680-669 ปีก่อนค.ศ.) ขึ้นครองราชย์และทรงสร้างบาบิโลนใหม่ ทรงทำสัมพันธไมตรีกับพวกซิธ (เชื้อสายเดียวกับพวกอิหร่าน) ขับไล่ซิมเมเรียน (จากรัสเซียตอนใต้) ออกไปและรบชนะอียิปต์ได้ดินแดนจนถึงนูเบีย นับเป็นสมัยที่อาณาจักรอัสซีเรียกว้างขวางที่สุด
     668-626 ปีก่อนค.ศ. พระเจ้าอัสสูร์บานิปาล ทำลายเมืองธีบส์ของอียิปต์ แต่เป็นเพราะอียิปต์อยู่ไกลมากจึงไม่อาจปกครองได้ ประกอบกับพระเชษฐาที่ครองบาบิโลนก่อกบฎ โดยได้รับความร่วมมือจากศัตรูของอัสสูร์ 648 ปีก่อนค.ศ. ทรงยึดบาบิโลนไว้ในอำนาจ 639 ปีก่อนค.ศ. ทำลายซูส (อีลาม) ทรงสร้างหอสมุดใหญ่ที่นินิฟ (มีแผ่นดินเหนียวบันทึกถึง 22,000 แผ่น เป็นบทกวี วรรณคดี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา การแพทย์ ดาราศาสตร์ รายการสินค้าและบัญชี) ต่อมามีเรื่องไม่สงบในประเทศและพวกซีธเข้ามาบุกรุก ทำให้บ้านเมืองเสื่อม พระเจ้าซียาซาร์แห่งมีเดีย (มีดส์) และพระเจ้านาโบโปลาสซาร์แห่งบาบิโลนยึดอำนาจและทำลายเมืองทุกเมืองของพวกอัสซีเรีย ประชากรถูกฆ่าตายหมด
งานศิลปกรรม พระราชวังขนาดมหึมาพร้อมงานประติมากรรมตกแต่งที่ได้สัดส่วนกับขนาดของสถาปัตยกรรม มีที่เมืองนินิฟ กาลาห์ ดูร์-ซาร์รูคิน และอัสสูร์ (ภาพการล่าสัตว์ สงคราม และเทพเจ้า) ภาพเล่าเรื่องราวเป็นภาพประติมากรรมแบบนูนต่ำ
จักรวรรดิบาบิโลเนียตอนปลาย (625-539 ปีก่อนค.ศ.) พวกคาลเดี้ยนพยายามชนะบาบิโลเนียจนสำเร็จหลังรัชกาลพระเจ้าอัสสูร์บานิปาล     
     625-605 ปีก่อนค.ศ. พระเจ้านาโบโปลาสซาร์ทรงเป็นกษัตริย์ครองบาบิโลน อีลาม เมโสโปเตเมียตะวันตก ซีเรีย และปาเลสไตน์ 604-562 ปีก่อนค.ศ. พระเจ้านาบุโคโดโนซอร์ที่ 2 ทรงเป็นนักการทูตที่ชาญฉลาด อาณาจักรของพระองค์รุ่งเรืองที่สุด ทรงขยายเมืองบาบิโลน สร้างถนนยาวหลายสาย สร้างประตูอิชทาร์ สร้างวัดอีสากิล สร้างพระราชวังที่งามที่สุด มีหอคอยเป็นชั้นๆ เรียกว่า อีเทเมนานกิ (หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อว่าหอบาเบล สูงถึง 90 เมตร) สมัยนี้ผู้มีอิทธิพลมีอำนาจเท่าเทียมกัน
598 ปีก่อนค.ศ. ทรงครองเยรูซาเล็มตามข้อตกลงระหว่างแคว้นยูดาและอียิปต์ (ยิวอพยพออกจากประเทศเป็นครั้งแรก) 587 ปีก่อนค.ศ. ทำลายเยรูซาเล็ม ต่อจากนั้นบ้านเมืองเสื่อมเพราะกษัตริย์ขัดแย้งกับสาวกของพวกเทพเจ้ามาร์ดุก ฝ่ายหลังเลือกพระเจ้านาโบนิดให้เป็นกษัตริย์ (553-539 ปีก่อนค.ศ.) ทรงได้ชื่อว่าเป็น " นักโบราณคดีบนบัลลังก์ " แต่ต่อมาไม่ลงรอยกับพวกพระทรงจำต้องออกจากบาบิโลนไป บาลธาซาร์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำหน้าที่แทนเป็นเวลา 10 ปี 539 ปีก่อนค.ศ. พระเจ้าซิรุสที่ 2 แห่งเปอร์เซียยึดบาบิโลน บาบิโลนกลายเป็นเมืองหนึ่งของเปอร์เซีย 331 ปีก่อนค.ศ. พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีกยึดบาบิโลน   บาบิโลนรับอารยธรรมกรีกเฮเลนิสติก

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites