วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ถอดรหัสเส้นสายโบราณของชนเผ่านาสกาแห่งเปรู

ภาพลี้ลับบนทะเลทรายที่รู้จักในชื่อลายเส้นนาสกา (Nasca Lines) อันประกอบไปด้วยรูปลายเส้นที่เน้นความเป็นธรรมชาติอย่างสัตว์และพืช เริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในปลายทศวรรษ 1920 เมื่อสายการบินพาณิชย์เปิดเส้นทางบินระหว่างกรุงลิมากับอาเรกีปา เมืองทางใต้ของเปรู และนับแต่นั้นมาก็สร้างความฉงนฉงายให้เหล่านักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา และผู้หลงใหลในวัฒนธรรมโบราณของอเมริกามาตลอด ในเวลาไล่เลี่ยกัน บรรดานักวิทยาศาสตร์และมือสมัครเล่นทั้งหลายต่างพากันตีความลายเส้นเหล่านั้นไปต่างๆ นานา บ้างว่าเป็นถนนของชาวอินคา บ้างว่าเป็นผังระบายน้ำ หรือไม่ก็เป็นภาพที่เอาไว้ชื่นชมจากบอลลูนอากาศร้อนยุคโบราณ แต่ที่น่าขำที่สุดคงไม่พ้นทฤษฎีหลุดโลกที่บอกว่าเป็นลานจอดยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว
  หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาเรีย ไรเคอร์ ครูชาวเยอรมัน ได้ทำการสำรวจลายเส้นและรูปภาพซึ่งมีชื่อเรียกในทางวิชาการว่า ลิขิตธรณี (geoglyph - การวาดลายเส้นลงบนพื้น หรือการจัดเรียงเศษกรวด หิน ดิน บนพื้นดิน) อย่างเป็นทางการครั้งแรกนอกเมืองนาสกาและเมืองปัลปาที่อยู่ใกล้เคียง ไรเคอร์มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ลายเส้นเหล่านี้ตลอดครึ่งศตวรรษต่อมา กระทั่งเธอเสียชีวิตลงในปี 1998 และนับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา ได้มีการดำเนินโครงการวิจัยร่วมระหว่างเปรู-เยอรมนีใกล้ๆ เมืองปัลปาที่อยู่ห่างขึ้นไปทางเหนือ โครงการนาสกา-ปัลปา (Nasca-Palpa Project) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอีสลาและมาร์คุส ไรน์เดิล จากสถาบันโบราณคดีเยอรมนีนี้ มุ่งศึกษาชนเผ่าโบราณในภูมิภาคโดยบูรณาการวิชาการสาขาต่างๆ อย่างเป็นระบบ เริ่มจากที่ตั้งชุมชนและวิถีชีวิตของชาวนาสกา สาเหตุที่พวกเขาปลาสนาการไป และอะไรคือความหมายของลวดลายประหลาดที่พวกเขาทิ้งไว้บนพื้นทราย
ขณะที่เครื่องบินของเราตั้งท่าเลี้ยว ยอห์นี อีสลา นักโบราณคดีชาวเปรูก็แนบใบหน้ากับกระจก "สี่เหลี่ยมคางหมู!" เขาตะโกน พลางชี้ไปยังรูปเรขาคณิตขนาดยักษ์ที่เริ่มปรากฏให้เห็นรางๆ "นั่นแท่นครับ!" เขาเสริมพลางชี้นิ้ว "แท่นบูชาไงล่ะ!"
แท่นบูชาอย่างนั้นหรือ เขาชี้กองหินเล็กๆ ตรงมุมหนึ่งของสี่เหลี่ยมคางหมู หากอีสลาพูดถูก โครงสร้างขนาดเล็กที่ดูเรียบๆ นี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริงของลายเส้นนาสกา โดยเรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นและสิ้นสุดลงที่น้ำ
ชายฝั่งทางใต้ของเปรูและทางเหนือของชิลีเป็นดินแดนอันแห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งบนพื้นโลก ในภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นแอ่งขนาดเล็กและได้รับการปกป้องจากขุนเขาแอนดีส ที่ซึ่งวัฒนธรรมนาสการุ่งเรืองขึ้นนั้น มีแม่น้ำสิบสายไหลลงมาจากเทือกเขาแอนดีสซึ่งอยู่ทางตะวันออก แม่น้ำส่วนใหญ่จะเหือดแห้งอย่างน้อยก็ในบางช่วงของปี โครงข่ายของลำน้ำสีเขียวอันบอบบางสิบสายซึ่งแวดล้อมไปด้วยขุนเขาและทะเลทราย ก่อเกิดปัจจัยแวดล้อมอันเหมาะสมให้อารยธรรมยุคต้นถือกำเนิดขึ้น เบิร์นฮาร์ด ไอเทิล นักภูมิศาสตร์ในโครงการนาสกา-ปัลปา บอกว่า "พื้นที่แถบนี้เหมาะสมที่สุดสำหรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เพราะมีน้ำครับ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ ด้วย"
แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่าและลมฟ้าอากาศ แต่วัฒนธรรมนาสกาก็รุ่งเรืองอยู่นานถึง 800 ปี ราว 200 ปีก่อนคริสตกาล ชาวนาสกาเริ่มปรากฏตัวขึ้นจากวัฒนธรรมปารากัสที่รุ่งเรืองอยู่ก่อนหน้า โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ตามหุบเขา ริมแม่น้ำและปลูกพืชผลต่างๆ เมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางการปกครองแบบเทวาธิปไตยของวัฒนธรรมนาสกา ยุคต้นคือแดนศักดิ์สิทธิ์บนผืนทรายชื่อ กาฮัวชี ณ ศูนย์กลางทางพิธีกรรมแห่งนี้นักโบราณคดีได้ค้นพบกลุ่มสิ่งปลูกสร้างที่ครอบคลุมพื้นที่ 1.5 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยพีระมิดอิฐสูงตระหง่าน วิหารขนาดใหญ่หลายแห่ง ลานกว้างและแท่นประกอบพิธี ตลอดจนเครือข่ายบันไดและระเบียงทางเดินอันวิจิตรตระการตาที่เชื่อมต่อถึงกัน ในหนังสือว่าด้วยระบบชลประทานของนาสกาซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2003 นักประวัติศาสตร์ชี้ว่า แม่น้ำนาสกาซึ่งไหลลงสู่ใต้ดินราว 15 กิโลเมตรทางตะวันออกของกาฮัวชี กลับโผล่ขึ้นเหนือพื้นดินอีกครั้งราวกับน้ำพุที่ผลุดพุ่งขึ้นตรงชานเมือง พวกเขาบรรยายว่า "การที่สายน้ำปรากฏขึ้น ณ จุดนี้ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างแทบไม่ต้องสงสัย"
การสร้างลิขิตธรณีทำได้โดยการย้ายชั้นหินสีเข้มที่กระจายอยู่ทั่วพื้นดินออก เผยให้เห็นทรายสีอ่อนเบื้องล่าง เพียงเท่านี้ชาวนาสกาก็สามารถฝากรอยจารึกที่ดำรงอยู่หลายร้อยปีในสภาพภูมิอากาศอันร้อนแล้งได้ นักโบราณคดีเชื่อว่าการสร้างและดูแลรักษาลายเส้นเป็นกิจกรรมร่วมกันของชุมชน ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งในยุคต้นของวัฒนธรรมนาสกา เส้นเหล่านี้ได้พัฒนาจากภาพธรรมดาๆ ไปสู่เส้นทางเดินที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม ก่อนจะกลายเป็นรูปทรงเรขาคณิตแบบเปิดในเวลาต่อมา โดยสี่เหลี่ยมคางหมูบางรูปมีความกว้างกว่า 600 เมตร นี่อาจเป็นการตอบสนองต่อประชากรที่เพิ่มขึ้นตามที่ทีมวิจัยเปรู-เยอรมนีบันทึกไว้ และอาจมีคนเข้าร่วมพิธีกรรมเหล่านี้มากขึ้น ไรน์เดิลบอกว่า "เราคิดว่าลายเส้นพวกนี้ไม่ได้เป็นภาพที่เอาไว้ดูอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนเวทีที่ให้คนขึ้นไปเดินเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาครับ"
เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่ชนเผ่าในแถบเทือกเขาแอนดีสบูชาเทพเจ้าในรูปภูเขาอย่างเซร์โรบลังโก ข้อมูลจากนักสำรวจประจำสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ระบุว่า ภูเขามีความเกี่ยวโยงกับแหล่งน้ำในเชิงตำนานหรือความเชื่อมากกว่าจะเป็นเรื่องทางธรณีวิทยา (แม้แต่ภูเขาที่ไม่มีทางน้ำใต้ดินยังได้รับความเคารพในฐานะเทพเจ้าและถือเป็นแหล่งน้ำด้วย) เศษเครื่องปั้นดินเผาในวัฒนธรรมนาสกาที่พบกระจัดกระจายตลอดเส้นทางไปสู่ยอดเขาเซร์โรบลังโกบ่งชี้ว่า การเชื่อมโยงเช่นนี้มีอยู่อย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว แต่การค้นพบที่แท้จริงซึ่งเชื่อมโยงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เข้ากับการบูชาแม่น้ำเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2000 บนลิขิตธรณีรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเหนือที่ราบสูงรกร้างใกล้หมู่บ้านยูนามา ก่อนหน้านี้ นักโบราณคดีมักพบกองหินขนาดใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้นอยู่ตรงปลายสี่เหลี่ยมคางหมู ซึ่งพวกเขาสงสัยว่าอาจเป็นแท่นประกอบพิธี ขณะที่ไรน์เดิลขุดสำรวจกองหินกองหนึ่ง เขาก็พบเศษเครื่องปั้นดินเผา เปลือกกุ้งนาง ซากพืชผัก และเศษวัสดุอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นเครื่องบวงสรวง นอกจากนี้ เขายังพบเศษเปลือกหอยขนาดใหญ่ในสกุลหอยนางรมหนาม (Spondylus) ที่มีลักษณะโดดเด่นด้วยเปลือกสีครีมอมส้มและหนามแหลมบนพื้นผิว ซึ่งพบในน่านน้ำนอกชายฝั่งทางเหนือของเปรูเฉพาะช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ดังนั้น จึงมีความเกี่ยวโยงกับการมาถึงของฝนและความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร
"เปลือกหอยนางรมหนามเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งทางศาสนาที่ใช้แทนน้ำและความอุดมสมบูรณ์ และน่าจะเชื่อมโยงกิจกรรมบางอย่างเข้ากับการสวดขอน้ำ เห็นได้ชัดเลยครับว่าน้ำเป็นปัญหาใหญ่ในแถบนี้" ไรน์เดิลอธิบาย "ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในยุคกลางและยุคหลังของวัฒนธรรมนาสกา นักโบราณคดีพบหลักฐานการฝังศพมนุษย์ที่ถูกบั่นศีรษะเพื่อเป็นเครื่องบูชายัญมากขึ้น อันเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนประสบความกดดันทางสิ่งแวดล้อมอย่างแสนสาหัส ซึ่งอาจเป็นความแห้งแล้งหรือพืชผลทางการเกษตรล้มเหลวก็เป็นได้ และถ้านั่นคือการบูชายัญแล้ว พวกเขาคงทำไปเพื่ออ้อนวอนเทพเจ้า"
แต่ท้ายที่สุด ทั้งเครื่องเซ่นสรวงและการสวดอ้อนวอนก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากทวยเทพ
แทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่าน้ำการขาดแคลนน้ำเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในความอยู่รอดของวัฒนธรรมนาสกาในช่วงท้ายๆ หรือราว ค.ศ. 500 ถึง 600 นักธรณีฟิสิกส์พบร่องรอยว่า ทะเลทรายได้แผ่อาณาเขตเข้าสู่ที่ราบระหว่างหุบเขาทางตะวันออกของเมืองปัลปาเป็นระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตรระหว่าง 200 ปีก่อนคริสตกาลถึงปี ค.ศ. 600 โดยแผ่ไปถึงระดับความสูงราว 2,000 เมตร ในเวลาเดียวกัน ศูนย์กลางประชากรในแถบลุ่มแม่น้ำรอบๆ ปัลปาก็เคลื่อนย้ายขึ้นไปทางเหนือของหุบเขามากขึ้น ราวกับว่าพวกเขาพยายามดิ้นรนหนีให้พ้นจากภัยแล้ง ไอเทิลสรุปไว้ในรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า "ในช่วงปลายศตวรรษที่หก ความแห้งแล้งทวีความรุ่นแรงถึงขีดสุดและชุมชนนาสกาก็ล่มสลาย"
"ไม่ใช่แค่สภาพอากาศเท่านั้นนะครับที่ทำให้วัฒนธรรมนาสกายุคต้นที่กาฮัวชีล่มสลาย เราอาจพูดได้เลยว่า ชะตากรรมเดียวกันนี้น่าจะนำไปสู่อวสานของวัฒนธรรมนาสกาโดยรวมเช่นกัน" ยอห์นี อีสลา นักโบราณคดีชาวเปรูบอกผม "วิกฤติและความระส่ำระสายเกิดขึ้นเพราะหุบเขาบางแห่งมีน้ำมากกว่าแห่งอื่นๆ และผู้นำชุมชนในหุบเขาต่างๆ อาจขัดแย้งกัน"
ลิขิตธรณีจึงเปรียบได้กับเครื่องเตือนใจอันเปี่ยมไปด้วยพลังและมีนัยทางพิธีกรรมให้ชาวนาสการู้ว่า ชะตากรรมของพวกเขาผูกพันแนบแน่นกับสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นความงามตามธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ที่ไม่จีรัง หรือความเกรี้ยวกราดที่คุกคามต่อความเป็นความตาย เราจะมองเห็นความเคารพในธรรมชาติของชาวนาสกาได้ ทั้งในยามสมบูรณ์พูนสุขหรือแร้นแค้นขาดแคลนอย่างถึงที่สุด ในทุกเส้นสายและส่วนโค้งเว้าที่พวกเขาบรรจงลิขิตไว้บนพื้นทะเลทราย เมื่อเท้าของเราย่างเหยียบไปบนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาด้วยความเคารพนอบน้อม แม้จะเป็นเพียงเวลาสั้นๆ เราจะสัมผัสถึงความเคารพยำเกรงนั้นได้ด้วยตัวเอง.
คำบรรยายภาพ? ศีรษะที่ถูกบั่นขาดร้อยเชือกถักจากกาฮัวชีนี้น่าจะเป็นเครื่องรางที่เชื่อว่านำความอุดมสมบูรณ์มาให้ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายอาจเป็นคนพื้นเมืองที่ถูกสังเวยเพื่อบูชายัญยามเมื่อเกิดภัยแล้ง
? ซากศพจำนวนมากที่ถูกฝังรวมทั้งชายคนนี้ซึ่งขุดพบในอูยูไยยา กลายเป็นมัมมี่ตามธรรมชาติเนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งในภูมิภาค
? นักโบราณคดี อัลแบร์โต อูร์บาโน ชี้ให้เห็นเส้นทางอันคดเคี้ยวบนภาพปริศนาที่อาจสร้างขึ้นเพื่อให้คนเดินไปตามทาง ในลักษณะเดียวกับที่พบในลายเส้นนาสกาอื่นๆ
? บนทะเลทรายริมชายฝั่งทะเลทางใต้ของเปรู ภาพสลักบนพื้นดินที่กระจายอยู่ทั่วภูมิทัศน์ ทั้งแมงมุม ลิง สัตว์บินได้รูปร่างประหลาด และอื่นๆ สร้างความอัศจรรย์ใจแก่นักเดินทางทางอากาศตั้งแต่มีผู้พบเห็นครั้งแรกในทศวรรษ 1920 ขณะนี้ นักโบราณคดีเชื่อว่าพวกเขารู้เหตุผลที่ชนโบราณสร้างภาพเหล่านี้ขึ้นเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites